ไคร้หางนาค ๒

Phyllanthus taxodiifolius Beille

ชื่ออื่น ๆ
ตะไคร้หางสิงห์ (สุพรรณบุรี); เสียว (ตะวันออกเฉียงเหนือ); เสียวน้อย, เสียวนํ้า (ปราจีนบุรี); เสียวเล็
ไม้พุ่มขนาดเล็ก กิ่งเป็นเหลี่ยม เกลี่ยง ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเพศผู้มักอยู่ใกล้โคนกิ่งย่อย ส่วนดอกเพศเมียมักอยู่ใกล้ปลายกิ่งย่อย ไม่มีกลีบดอกแต่มีจานฐานดอก ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม มี ๓ พู เมล็ดปกคลุมด้วยเส้นใยฝอยสีค่อนข้างแดง

ไคร้หางนาคชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๖๐ ซม. กิ่งเป็นเหลี่ยม เกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาว ๓-๕ มม. ปลายมนหรือแหลม และมีติ่งแหลมอ่อนโคนเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษหรือค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๔ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัดก้านใบยาวประมาณ ๐.๕ มม. หูใบรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๑ มม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเดี่ยวตามซอกใบ ดอกเพศผู้มักอยู่ใกล้โคนกิ่งย่อย ส่วนดอกเพศเมียมักอยู่ใกล้ปลายกิ่งย่อย ไม่มีกลีบดอกแต่มีจานฐานดอก ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. ก้านเด็กเรียว เกลี้ยงกลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปหัวใจ รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๑-๐.๒ มม. ยาว ๐.๓-๐.๕ มม. เกสรเพศผู้ ๒ เกสร ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๑ มม. อับเรณู ยาวประมาณ ๐.๑ มม. ดอกเพศเมียมีก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. ใหญ่กว่าก้านดอกเพศผู้ เกลี้ยง กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๐.๕-๐.๗ มม. ยาว ๑-๑.๓ มม. จานฐานดอกเป็นวงแหวน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกลี้ยง มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๓ แฉก ยาว ๐.๑-๐.๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๒-๐.๓ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกลม มี ๓ พู เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓.๒-๔(-๗) มม. ผิวย่น ก้านผลยาวประมาณ ๓ มม. เมล็ดมี ๓ มุม กว้าง ๑-๑.๕ มม. ยาว ๒.๕-๒.๗ มม. ปกคลุมด้วยเส้นใยฝอยสีค่อนข้างแดง

 ไคร้หางนาคชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง พบขึ้นตามริมฝืงแม่นํ้าอ่างเก็บน้ำ และริมคลอง ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๕๐-๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่จีน เวียดนาม และกัมพูชา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไคร้หางนาค ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Phyllanthus taxodiifolius Beille
ชื่อสกุล
Phyllanthus
คำระบุชนิด
taxodiifolius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Beille, Lucien
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1862-1946)
ชื่ออื่น ๆ
ตะไคร้หางสิงห์ (สุพรรณบุรี); เสียว (ตะวันออกเฉียงเหนือ); เสียวน้อย, เสียวนํ้า (ปราจีนบุรี); เสียวเล็
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต